วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2562

ภูมิแพ้-นอนกรน อันตรายกว่าที่คิด

ภูมิแพ้-นอนกรน อันตรายกว่าที่คิด
ขอบพระคุณเจ้าของข้อมูล

โดย #ภูมิแพ้ก็แพ้เรา #หมอแอน

สถานการณ์ ‘คนกรน’
‘นอนกรน’ เรื่องเล็กๆ ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่
เพราะนอกจากจะรบกวนคนข้างๆ จนนอนไม่หลับแล้ว
การนอนกรนยังบ่งบอกถึงสุขภาพทางเดินหายใจของเราด้วย
.
จากสถิติพบว่าคนไทยประมาณ 25% นอนกรน
จากสาเหตุทางเดินหายใจช่วงบนมีการอุดกั้นเป็นระยะตลอดการนอนหลับ
และผู้ที่มีอาการกรนมากจนมีการหายใจติดขัดจนเกิดการสะดุด
หยุดหายใจเป็นช่วงๆ ร่างกายขาดอากาศเป็นระยะๆ ส่งผลเสียต่อหัวใจ สมอง หลอดเลือด และอวัยวะต่างๆ
โรคนี้เรียกว่า ‘โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’
ซึ่งพบในคนไทยประมาณ 5% หรือประมาณ 3 ล้านคน !
.
สาเหตุของ ‘โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’ ที่พบได้บ่อย
1. เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้ อันจะทำให้มีอาการอักเสบของเยื่อบุ
และเนื้อเยื่ออ่อนของโพรงจมูก ที่มักส่งผลทำให้โพรงจมูกแคบลง
หรือทำให้เราคัดจมูกจนหายใจลำบากนั่นเอง หรืออาจมีความผิดปกติของโครงสร้างจมูกที่ตีบแคบ
2. มีต่อมทอนซิล หรือ อดีนอยด์โต ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองหลังโพรงจมูก
มักโตในคนที่เป็นหวัด หรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย
3. สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่
4. น้ำหนักเกิน ค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25 
นอกจากนี้ เมื่ออายุมากขึ้นก็จะพบภาวะนี้มากขึ้นด้วยค่ะ
.
ภูมิแพ้กับโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
โรคภูมิแพ้เดินหายใจเช่น โรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ
โรคหืด เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อย ประมาณการว่าคนไทยเป็นโรคแพ้อากาศร้อยละ 40-50
และเป็นโรคอันดับหนึ่งที่คนไข้มาใช้บริการที่ศูนย์ภูมิแพ้
.
โรคนี้มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต รบกวนต่อการนอนมีผลทำให้นอนกรน
ทางเดินหายใจอุดกั้น หยุดหายใจ
.
โรคทางเดินหายใจอุดกั้นในเด็ก ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะต่อมทอลซิล/อดีนอยด์โต
ซึ่งมักจะมีโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจร่วมด้วย
จากผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยเด็กที่เป็นโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้
พบปัญหาการนอนหลับได้บ่อยกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่เป็นจมูกอักเสบภูมิแพ้
.
ส่วนภาวะนอนกรนในผู้ใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ โรคอ้วน
คนที่มีความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรหรือบริเวณใบหน้า
และผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้ทางเดินหายใจด้วย
.
ผลกระทบที่น่าตกใจ
โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ มีผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต
เช่น ทำให้เกิดอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน เพราะร่างกายไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ นอนหลับกระสับกระส่าย เหงื่อออกตอนกลางคืน อ้าปากหายใจ คอแห้ง ปวดศีรษะในตอนเช้า หลับในห้องเรียนตื่นยากและไม่สดชื่นในตอนเช้าและมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุบนถนนและในโรงงานอุตสาหกรรมได้มากถึง 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ 
.
นอกจากนั้น ยังมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
เช่น ความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หัวใจเต้นผิดจังหวะ,
ความดันโลหิตของปอดสูง และโรคหลอดเลือดสมอง
.
ภูมิแพ้ดี ไม่มีกรน
การดูแลรักษาโรคนี้จึงต้องอาศัยทีมสหวิชาชีพและใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา
เช่น แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ แพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้ แพทย์หูคอจมูก พยาบาลเฉพาะทาง นักวิทยาศาสตร์ นักโภชนาการ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีเทียบเท่ามาตรฐานสากล ปัจจุบันนี้มีการให้บริการสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านนี้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและระบบหายใจ และหน่วยตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ให้บริการตรวจความผิดปกติขณะนอนหลับ
.
ถ้าหากพบว่าอาการนอนกรนมีต้นตอมาจากการเป็นภูมิแพ้
เราในฐานะผู้ป่วยควรดูแลตัวเอง 4 ด้าน เพื่อลดอาการนี้ ได้แก่
- ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
- เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้
- ดูแลสภาพแวดล้อม ให้สะอาด ปราศจากสิ่งกระตุ้นภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง
- ดูแลสภาพจิตใจ ผ่อนคลายความเครียด
.
และติดตามเนื้อหาใหม่ๆ จากหมอแอน เพื่ออัพเดทเคล็ดลับการจัดการและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับภูมิแพ้อย่างมีความสุข ได้ที่เพจ  #ภูมิแพ้ก็แพ้เรา
.
ที่มา:
J Med Assoc Thailand 2015; 98(2):s138-144.
Poachanukoon, Orapan, and Maleewan Kitcharoensakkul. “Snoring and Sleep Problems in Children with and without Allergic Rhinitis: a Case Control Study.” Journal of the Medical Association of Thailand = Chotmaihet Thangphaet, U.S. National Library of Medicine, Mar. 2015, "www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26211115"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กระดูกทับเส้น......ป้องกันได้!!

กระดูกทับเส้น......ป้องกันได้!! ขอบพระคุณเจ้าของข้อมูล ใครไม่เคยปวดหลังร้าวชาลงขา เดินไม่ได้ ก้มไม่ได้ ต้องไม่เคยลิ้มรสความทรมานจากโรคก...