ขอบพระคุณเจ้าของข้อมูล
มีจุดยืน แต่ยืนไม่ไหว
ยืนทำงานนานๆ ต้องระวัง
.
ใครที่มีอาชีพ หรือความจำเป็นที่จะต้องทำงานที่ยืนนานๆ ยกมือขึ้น!
ถ้าคุณรู้สึกปวดที่บริเวณน่อง เท้าและหลัง แปลว่าคุณอาจได้รับผลกระทบจากการทำงานที่ยืนนานๆ นี้แล้ว
.
ตัวอย่างอาชีพที่ต้องยืนนานๆ
พนักงานร้านค้าปลีก พนักงานต้อนรับตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ หรือโรงแรม แคชเชียร์ พนักงานรักษาความปลอดภัย แพทย์และพยาบาล คนทำอาหาร ช่างเสริมสวย พนักงานซักรีด หรือพนักงานในโรงงาน เช่น ยืนขณะประกอบอุปกรณ์ต่างๆ ยืนแกะกุ้งหรือชำแหละไก่ เป็นต้น
.
ยืนนานมีผลเสียอย่างไร
การยืนนานๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ 4 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ดังนี้
.
- กล้ามเนื้อน่องและต้นขา
ขณะยืนกล้ามเนื้อน่องแบกรับน้ำหนักตัวทั้งตัว ปกติแล้วกล้ามเนื้อน่องมีความแข็งแรงมาก แต่ถ้าต้องยืนอยู่นานๆ กล้ามเนื้อน่องต้องเกร็งตัวตลอดเวลา จะทำให้มีของเสียคั่งค้างมาก เกิดอาการปวดเมื่อยได้
.
กล้ามเนื้อต้นขามีหน้าที่หลัก คือการพยุงหัวเข่าไม่ให้พับลงในขณะยืน ขณะยืนนานกล้ามเนื้อต้นขาต้องเกร็งตัวตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการล้าสะสมของกล้ามเนื้อ และเกิดอาการปวดที่ต้นขาได้
.
การใส่รองเท้าส้นสูงจะทำให้กล้ามเนื้อน่องปวดเมื่อยมากขึ้น เนื่องจากจุดศูนย์ถ่วงของร่างกายตกไปทางด้านหน้า กล้ามเนื้อน่องจะต้องคอยดึงร่างกายไม่ให้ล้มไปข้างหน้า ดังนั้น การใส่ส้นสูงร่วมกับการยืนนานมีผลทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อน่องได้ง่ายยิ่งขึ้น
.
- เท้า
การยืนนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ที่อยู่ในอุ้งเท้าเราต้องทำงานหนัก เนื่องมาจากสาเหตุที่เนื้อเยื่อบริเวณฝ่าเท้าถูกน้ำหนักตัวกดทับอยู่นาน ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าขึ้นได้ โดยอาการปวดที่พบได้บ่อยคือ ส้นเท้า ฝ่าเท้าอักเสบ หรือรองช้ำ คือจะมีอาการเจ็บมากขณะเท้าเหยียบพื้นเมื่อตื่นนอนตอนเช้า
.
- หลอดเลือดบริเวณขา
การยืนทำงานนานๆ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี โดยเฉพาะบริเวณน่อง ต้นขา เกิดแรงดันภายในหลอดเลือดดำ บริเวณใกล้ชั้นผิวหนังที่ขยายตัวบวมออกมา และมีเลือดมาสะสมมากจนเห็นเป็นเส้นเลือดสีฟ้าหรือม่วงเข้ม จนกลายเป็นเส้นเลือดขอด
.
- เข่าและหลัง
การยืนทำให้เกิดแรงกดไปที่หัวเข่า เมื่อเมื่อยล้า ร่างกายจะพยายามล็อกหัวเข่า ทำให้เข่าแอ่น และหลังแอ่นมากขึ้น จนเกิดเป็นอาการปวดเข่าและหลัง
.
ป้องกัน/แก้ไข
.
- ใช้เก้าอี้แบบกึ่งนั่งกึ่งยืน
เพื่อช่วยลดแรงกดที่เท้า ไม่ให้เมื่อยขา
.
- ใช้ที่พักขา
เพื่อช่วยให้หายเมื่อยและลดการแอ่นของหลัง
.
- รองเท้าพื้นนิ่ม สวมใส่สบาย
ถ้าต้องยืนนานๆ ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่ม สวมใส่สบาย หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงยืนนานๆ เพื่อลดแรงกดที่เท้า หรือพยายามยืนบนพื้นที่นิ่มที่สุด
.
- บริหารกล้ามเนื้อและออกกำลังกาย
.
การบริหารกล้ามเนื้อและร่างกาย จะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปที่ขาและเท้าได้ดีขึ้น #โรครว้ายๆวัยทำงาน มีท่าบริหารขาง่ายๆ มาฝาก คือ การนอนเอาเท้ายันกับกำแพงให้เท้าอยู่สูงจากพื้นประมาณครึ่งเมตร แล้วกระดกปลายเท้าขึ้น ทำสลับกันทั้ง 2 ข้าง ทำประมาณ 10 นาที
.
รวมถึงควรออกกำลังด้วยการเดิน วิ่ง หรือว่ายน้ำ เป็นเวลา 15-20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นกิจวัตรด้วย
.
ที่มา:
.
"doctor.or.th"
"paolophahol.com"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น